Last updated: 19 ก.ค. 2566 | 1153 จำนวนผู้เข้าชม |
เมื่อวันที่ 10 ก.ค.66 การท่าเรือแห่งประเทศไทย นำโดย นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนและรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการ ตามแผนปฏิบัติการด้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยมีเรือเอกกานต์ เมนะรุจิ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง นายวีระยุทธ์ สว่างแจ้ง รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง นายวีรชาติ พุทธรักษา ผู้ช่วยผูุ้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ผู้บริหาร พนักงานท่าเรือแหลมฉบัง
พร้อมด้วย หน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สมาคมขนส่งแหลมฉบัง ชลบุรี (LCTA) หนึ่งในสมาชิกสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย (LTFT) ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ สมาคมผู้ประกอบการท่าเทียบเรือสินค้าและคอนเทนเนอร์ (TICTA) สมาคมโลจิสติกส์ EEC ภาคตะวันออก สมาคมขนส่งภาคตะวันออก ETA ชมรมขนส่งสินค้าท่าเรือแหลมฉบัง สมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพฯ(BSAA) สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สถาบันด้านการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์ (MLI) กรมเจ้าท่า และสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เข้าร่วม การประชุม
การประชุมครั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือตู้สินค้า และท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ภายในเขตท่าเรือแหลมฉบัง ได้บริหารงาน การปฏิบัติการด้านเรือและสินค้า ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล และตามระเบียบข้อบังคับของการท่าเรือฯ และเพื่อให้ผู้บริหารการท่าเรือฯ และผู้บริหารของผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ รวมทั้ง หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในการดำเนินการประกอบกิจการท่าเทียบเรือ ตลอดจน นำข้อเสนอแนะต่าง ๆมาพัฒนาการปฏิบัติงานด้านต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล เพื่อพัฒนาให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของการท่าเรือฯ ต่อไป
ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้ มีพูดคุยเกี่ยวกับการดำเนินการของท่าเรือแหลมฉบัง ได้แก่
1. ระบบสาธารณูปโภค ท่าเรือแหลมฉบัง
2. การขุดลอกร่องน้ำทางเดินเรือ และแอ่งจอดเรือ
3. การจัดการตู้สินค้าตกค้าง (Long Stay) ออกจากเขตปฏิบัติการท่าเทียบเรือ
4. ปัญหาฝุ่นละออง/ดอกหญ้า ติดรถยนต์ส่งออก
5. การแก้ไขปัญหาจราจรแออัดในบางช่วงเวลา ภายในเขตท่าเรือแหลมฉบัง โดยจะเปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการบริหารจัดการ พื้นที่ 90 ไร่ ในการจัดทำจัดพักรถ เพื่อเตรียมเข้าส่ง-และรับสินค้าภายในเทอมินอล ลดระยะเวลาและความแออัดภายในท่าเรือซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ในปีนี้
นอกจากนี้ เตรียมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูเเลเคลื่อนย้ายสินค้าที่ตกค้างที่รอการตรวจสอบ นำไปเก็บรักษาในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายช่วยผู้ประกอบการลงได้อีกด้วย
ด้าน เรือเอก กานต์ เมนะรุจิ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ระบุว่า ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นผู้รับผิดชอบหลักของการดำเนินโครงการแผนงานตัวชี้วัดของแผนปฏิบัติการด้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของการท่าเรือประจำปีงบประมาณ 2566 ในส่วนของกิจกรรมแผนการแลกเปลี่ยนข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งทางยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาองค์กรอย่างมีส่วนร่วม และกลยุทธ์ที่ 6.1 การพัฒนาการงานที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น ท่าเรือแหลมฉบัง จึงได้จัดการประชุม เพื่อแลกเปลี่ยนและรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการฯ ตามแผนปฏิบัติการด้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนและรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการในครั้งนี้ ที่เป็นส่วนสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง อีกทั้ง ยังเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร ซึ่งสามารถเชื่อมโยงความรู้ที่ได้ศึกษาผลการปฏิบัติงานในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาการประชุม มีการแลกเปลี่ยน ข้อเสนอแนะ ในการปฏิบัติงานด้านต่าง ๆ และการท่าเรือฯ ได้ชี้แจงข้อมูล ความคืบหน้าในการปฏิบัติงาน อีกด้วย
การท่าเรือแห่งประเทศไทย
ติดตามข้อมูลข่าวสารทาง คนรักสิบล้อ