Last updated: 11 ต.ค. 2566 | 672 จำนวนผู้เข้าชม |
9 ต.ค. 66 เวลา 09.00 น. ดร.สุนทร ผจญ กรรมการบริหารสหพันธ์ฯ ผู้แทนประธานสหพันธ์/นายกสมาคมขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออก คุณณัฐจันธร ขวัญเมือง รองเลขาธิการสหพันธ์ฯพร้อมด้วยผู้แทนสมาคมขนส่งฯ เข้าร่วมพิธีมอบโล่เกียรติคุณให้แก่ผู้ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพบริการขนส่งด้วยรถบรรทุก (Q Mark) ประจำปี พ.ศ. 2566 และการสัมมนา “โอกาส ความท้าทายและอนาคตการขนส่งสินค้าทางถนนของประเทศไทย” โดยมี รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก สิริรัตน์ วีรวิศาล เป็นประธานกล่าวเปิดงานฯ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สุรพงษ์ ปิยะโชติ ได้กล่าวแสดงความยินดีและมอบโล่เกียรติคุณ ให้กับผู้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฯ จำนวน42 ราย ณ ห้องประชุมฟีนิกซ์ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี
ทั้งนี้ ดร.สุนทร ผจญ วิทยากรร่วมเสวนา นำเสนอประเด็นเสวนา : การพัฒนาสมรรถนะผู้ประกอบการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก ใน 4 ด้าน
1) ด้านนโยบายรัฐ ได้แก่กฎระเบียบ กฎหมาย การพัมนาโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนผู้ประกอบการ เช่นจุดพักรถที่ครอบคลุมพื้นที่ การเชื่อมต่อการขนส่งที่มีประสิทธิภาพลดระยะเวลารอคอยเป็นต้น การพัฒนาผู้ประกอบการ เช่น Qmark เป็นต้น
2) การจัดการองค์กร ได้แก่การบริหารบุคลากรขนส่ง การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการ และการสนับสนุนด้านเงินทุนหมุนเวียน ระบบ Q-mark จะช่วยในการจัดการองค์กรขนส่งได้
3) การใช้เทคโนโลยีความปลอดภัยและจีพีเอส
4) การปฏิบัติการขนส่งสินค้า ได้แก่การจัดการคำสั่งซื้อ/ข้อตกลง การวางแผนและปฏิบัติการขนส่ง และการซ่อมบำรุง เพื่อประสิทธิภาพในการขนส่ง ลดต้นทุน ประหยัดเวลา และบรรลุถึงความปลอดภัยและการขนส่งที่มิตรต่อสิ่งแวดล้อม
พร้อมฝากให้กับภาครัฐ/ข้อเสนอแนะดังนี้
1. การเชื่อมโยงการขนส่ง Connectivity การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต้องเชื่อมโยงการขนส่งแบบไร้รอยต่อ ลดเวลารอคอย เนื่องจากผู้ประกอบการขนส่งประสบปัญหาการจราจรติดขัด เมื่อไปส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่ ICD ลาดกระบัง ใช้เวลาอย่างน้อย 6 - 8 ชั่วโมง ใช้น้ำมัน 6 ลิตร/ชั่วโมง มีต้นทุนที่เกิดขึ้นเฉลี่ย ชั่วโมงละ 200 บาท อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดฝุ่นละออง PM2.5 ขึ้นมา ดังนั้น ภาครัฐนำโดย กระทรวงคมนาคม จึงควรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย
2. เรื่องฝุ่นละออง PM2.5 รถใหม่ที่เป็น EV หรือใช้ไฮโดรเจน สามารถช่วยลดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ได้ แต่ต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควร ควรแก้ปัญหาที่รถเก่าที่มีอายุการใช้งาน 5 - 10 ปี จะทำอย่างไร กรมการขนส่งทางบก มีข้อมูลจำนวนของรถแต่ละประเภท ดังนั้น เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาในระยะยาว กรมการขนส่งทางบกหรือกระทรวงคมนาคม สามารถร่วมกับสถาบันการศึกษาผลิตเทคโนโลยี อาทิเช่น เทคโนโลยีกรองท่อไอเสีย เทคโนโลยีติดเครื่องยนต์สามารถวัดการปล่อยฝุ่นละออง PM2.5 เนื่องจากการแปลงรถเก่าให้เป็น EV มีต้นทุนสูงและไม่สามารถเปลี่ยนได้ทุกคัน
3. ตามข่าวสารที่มีการเผยแพร่ ศาลได้มีคำตัดสินเบื้องต้นของการออกใบสั่งทางออนไลน์ ซึ่งเรื่องยังติดค้างอยู่ในระบบ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อภาษีได้ ฝากเรื่องให้กรมการขนส่งทางบก ช่วยหาทางแก้ไขปัญหาและกำหนดแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจน
4. สิ่งที่จะพัฒนาเพื่อให้การศึกษาวิจัยในการจัดทำแผนการขนส่งระยะ 5 ปี สำเร็จบรรลุเป้าหมาย ภาครัฐและภาคเอกชนต้องเห็นเป้าหมายร่วมกัน ในเรื่องความปลอดภัย สิ่งแวดล้อมกฎหมายที่เป็นธรรม การใช้เทคโนโลยีในอนาคตที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง ภาครัฐควรใช้หลักธรรมาภิบาลเป็นแนวทางในการบริหารจัดการการขนส่งทั้งประเทศ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย(LTFT)
ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทาง คนรักสิบล้อ